เมื่อมาถึงประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งรถไฟแล้ว การจะไม่สัมผัสรถไฟในประเทศนี้เลยก็ถือว่าคงจะเป็นไปไม่ได้ (เดินทางไปไหนก็รถไฟจ้า) แถมรถไฟญี่ปุ่นก็ซับซ้อนซะด้วยสิ เห็นขึ้นชานชาลาเดียวกัน บางทีวิ่งกันไปคนละทางเลยนะ หรือบางขบวนมีการปลดตู้เพื่อแยกปลายทางในระหว่างทางซะด้วย !!
เนื่องด้วยเราเองมาฝึกงานญี่ปุ่นเป็นเวลาแสนนาน ดังนั้นเราก็จะมาอธิบายรถไฟญี่ปุ่นในฉบับเอาตัวรอดกันซะหน่อย
บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ตัวเองล้วน ๆ โดยในบทนี้จะเน้นการอธิบายภาพกว้าง ๆ ของรถไฟญี่ปุ่นพื้นฐาน และการปฏิบัติตัวบนรถไฟ โดยอาจจะมีบทอื่นเพิ่มเติมถ้าไม่ขี้เกียจไปซะก่อนนะ

ผู้ให้บริการและประเภทของรถไฟ
ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ผู้ให้บริการรถไฟมักจะแบ่งเป็นสามประเภท คือ
- ผู้ให้บริการรถไฟในกลุ่ม JR มีทั้งหมด 6 บริษัทแบ่งตามภูมิภาคและพื้นที่ให้บริการ คือ JR East, JR Central, JR Shikoku, JR West, JR Hokkaido และ JR Kyushu
- ผู้ให้บริการรถไฟเอกชนระดับภายในเมือง เช่น Osaka City Subway, Tokyo Metro, Toei Subway, Kobe New Transit, Nagoya Municipal Subway
- ผู้ให้บริการระดับข้ามเมืองเช่น Kintetsu, Keihan, Hankyu, Hanshin, Sanyo, Nankai โดยบางเจ้าอาจจะให้บริการข้ามจังหวัด บางเจ้าอาจให้บริการเฉพาะในภูมิภาค หรือบางเจ้าใหญ่หน่อยอาจให้บริการข้ามภูมิภาค
ก่อนที่จะเริ่มวางแผนการเดินทาง เราจำเป็นต้องทำความรู้จักประเภทของรถไฟกันเสียก่อน รถไฟญี่ปุ่นนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ รถไฟที่จอดทุกสถานี และรถไฟที่ไม่จอดทุกสถานี
ประเภทแรก รถไฟที่จอดทุกสถานี มักจะนิยมเรียกว่า Local หรือ Metro คือรถไฟที่วิ่งไปเจอสถานีไหนก็จอดมันทุกสถานีเลย ลักษณะเหมือนกับ BTS หรือ MRT ในประเทศไทยนั่นแล อันนี้เข้าใจง่าย
ประเภทที่สอง รถไฟที่ไม่จอดทุกสถานี นิยมเรียกกันว่า Express ซึ่งประเภทนี้ล่ะที่จะทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ ปวดหัวกันเป็นอย่างมาก แต่ถ้าอยากเดินทางให้ไว ก็ต้องขึ้นรถไฟประเภทนี้ให้เป็น

Express เป็นรถไฟที่น่ามึนเป็นอย่างมาก เพราะในแต่ละสาย แต่ละบริษัท ก็จะเรียกชื่อไม่เหมือนกันอีก เช่น
- Kintetsu 近鉄 เช่น Limited Express, Rapid Express, Express, Semi Express, Sub-semi Express
- Hankyu 阪急 เช่น Semi Express, Express, Limited Express
- Shinkansen 新幹線 เช่น Hikari, Nozomi, Kodama, Sakura, Mizuho
- JR เช่น Airport Rapid Service, Special Rapid Service, Limited Express, Rapid Service
แถมแต่ละบริษัท ชื่อเรียกเหมือนกัน แต่บริษัทหนึ่งต้องจองก่อน บริษัทนึงไม่ต้องจองก็มี แล้วทีนี้ จะรู้ได้ยังไงล่ะว่ารถไฟจอดสถานีไหนบ้าง แล้วจะขึ้นขบวนไหนได้
วิธีเตรียมตัวที่ง่ายที่สุด คือพยายามหาเส้นทางที่ดีที่สุดจาก hyperdia.com ซึ่งมักจะมีการบอกว่าสายที่เราต้องการนั้นอาจจะต้องเสียค่าจองที่ หรือถ้าคิดว่า Hyperdia จัดตารางไม่ดีพอก็ไล่ดูตารางเวลารถไฟของบริษัทให้ดี ๆ ซึ่งถ้าเกิดรถไฟที่ต้องจองที่ทั้งขบวน เขาจะบอกอยู่แล้วว่าเป็นขบวนที่ต้องจองที่
การดูว่ารถไฟที่กำลังจะมาว่าเป็นประเภทใด มีอยู่สองวิธี คือ
- ป้ายบนจอแสดงผลบนชานชาลา จะมีหลายรูปแบบตั้งแต่ เป็นจอแสดงผล LCD, จอไฟ LED ไปจนถึงจอป้ายที่สลับป้ายโดยเครื่องอัตโนมัติ หรือบางสถานีเล็ก ๆ มีแต่รถไฟประเภท Local จอด อาจไม่มีจอเลยก็ได้
- ป้ายติดด้านหน้าหรือด้านข้างขบวนรถ
ปกติแล้ว หากรถไฟมามักจะบอกว่าเป็นประเภทอะไร ปลายทางที่ไหน ซึ่งต้องดูให้ดี ๆ อย่าขึ้นผิดเชียวล่ะ (เดี๋ยวจะมีบอกเป็นรายละเอียดจริงจังอีกทีข้างล่าง)
ซื้อตั๋ว
เมื่อเราวางแผนการเดินทางพร้อมแล้ว ถัดไปคือ “ซื้อตั๋ว” และแน่นอนว่าตั๋วก็ทำให้ทุกคนปวดหัวได้อีกเช่นกัน เพราะว่าญี่ปุ่นนั้นมีบัตรหลายประเภทเหลือเกิน ทั้งตั๋วเที่ยวเดียว, pass, IC พอจะเข้าไปซื้อตั๋วที่เครื่อง เจ้าเครื่องที่ดูแสนจะไฮเทคนั่นเองก็ทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ มึนไปเลยว่า “แล้วจะต้องกดปุ่มไหน (ฟระ)”

เครื่องขายตั๋วในประเทศญี่ปุ่นนั้น ทำได้แทบจะทุกอย่างเลย ตั้งแต่ซื้อตั๋วเที่ยวเดียว, ออกบัตร IC, เติมเงินบัตร IC, ซื้อ PASS วัน
เรามารู้จักประเภทของตั๋วในญี่ปุ่นกันก่อน
- ตั๋วเที่ยวเดียว สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียว เป็นกระดาษแผ่นเล็ก ๆ วิธีใช้เหมือนกับบัตร BTS คือเสียบแล้วรับบัตรตอนเข้าระบบ แล้วก็เสียบคืนตอนออกจากระบบ
- บัตรสำหรับแตะเรียกว่า IC มีทั้งประเภทเติมเงินและรายเดือน
- บัตรสำหรับการเดินทางแบบไม่จำกัดในระยะเวลาที่กำหนด นิยมเรียกว่า PASS
- บัตรจองที่นั่งรถไฟ
- อื่น ๆ
ตั๋วเที่ยวเดียว วิธีการซื้อเหมือน BTS คือดูตารางรถไฟว่าต้องไปลงที่สถานีไหนที่มีอยู่ในแผนที่ที่ติดด้านบน ดูราคา แล้วก็กดเลือกตั๋วราคานั้น แต่ถ้าสถานีที่ต้องการไปไม่อยู่ในแผนที่ ก็ต้องดูว่าเปลี่ยนสายที่สถานีไหน ก็ให้ดูราคาของสถานีเปลี่ยนสายเอา (ราคาเหล่านี้ Hyperdia บอกไว้หมดแล้ว) ถ้าไปขึ้นที่สถานีที่มีรถไฟหลายสายมาก ๆ อาจจะมีเครื่องขายตั๋วที่แยกกันระหว่างสายหรือบริษัท ดูดี ๆ ว่าต้องซื้อเครื่องไหน

IC มีตัวเลือกในการใช้งานขึ้นกับภูมิภาคที่ใช้ โดยปัจจุบันมีหลายเจ้า เช่น Suica (JR East), Pasmo (ผู้ให้บริการในโตเกียวที่ไม่ใช่ JR), ICOCA (JR West), Toica (JR Central), Manaca (ผู้ให้บริการใน Nagoya ที่ไม่ใช่ JR), Kitaka (JR Hokkaido), Sugoca (JR Kyushu) ฯลฯ ซึ่งพวกที่ยกตัวอย่างนี้คือนักท่องเที่ยวซื้อได้ บัตร IC สามารถซื้อได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร (แต่บางตู้ก็ซื้อไม่ได้) หรือจะเข้าไปสอบถามพนักงานในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก็ได้
ทั้งนี้ แนะนำให้ลองเลือกตามภูมิภาค เช่น ถ้ามาเที่ยวโตเกียวเลือก Suica ถ้ามาคันไซเลือก ICOCA เป็นต้น ปกติแล้วบัตร IC จะเหมาะกับการเดินทางไม่มาก ถ้าจะเดินทางเยอะ ๆ แนะนำ PASS นักท่องเที่ยวดีกว่า
บัตร IC ปัจจุบันในญี่ปุ่นสามารถซื้อและคืนได้เฉพาะภูมิภาคเท่านั้น แต่การใช้งานสามารถใช้ข้ามผู้ให้บริการในภูมิภาคเดียวกัน หรือข้ามภูมิภาคได้ เช่น ICOCA สามารถนำไปใช้ในแถบโตเกียวได้ หรือ Suica ก็นำมาใช้แถบคันไซได้เช่นกัน (ข้อมูล ณ วันที่เขียน)
การซื้อบัตร IC ส่วนมากจะมีมัดจำที่ราคา 500 เยน ถ้าคืนบัตรเราก็จะได้มัดจำคืน ถ้ามีเงินในบัตรจะถูกหักบางส่วน แต่ IC ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะมีอายุ 10 ปีหลังการใช้งานครั้งสุดท้าย (ถ้าไม่ใช้ใน 10 ปีจะถูกยกเลิก) ดังนั้น ถ้าใครคิดจะมาเที่ยวญี่ปุ่นอีกอาจจะไม่ต้องคืนก็ได้ (อาจแตกต่างกันไปตามผู้บริการ ควรตรวจสอบก่อน)
นอกจากบัตร IC ปกติ อาจจะมีบัตร IC ประเภทติดชื่อตัวเองไว้ด้วย ซึ่งบัตรประเภทนี้สามารถออกใหม่ได้เมื่อหาย สามารถซื้อได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วเช่นกัน แต่เครื่องจะถามรายละเอียดมากขึ้น เช่น ชื่อ เบอร์โทร

PASS ตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น แต่ราคาก็ไม่เบา แนะนำให้ลองวางแผนการท่องเที่ยวก่อนว่าอยากจะไปที่ไหนบ้าง และลองคำนวณค่าใช้จ่ายดู ถ้าเกิดค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก แนะนำให้ซื้อ PASS จะจบกว่า และเผื่อหลงจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินซ้ำซ้อน
- PASS เฉพาะผู้ให้บริการ เช่น Tokyo Metro Subway Ticket
- PASS ภูมิภาคที่ไม่ใช่ของ JR เช่น Kansai Thru Pass, Tokyo Subway Ticket
- PASS ภูมิภาคของ JR เช่น JR Kansai Area Pass, JR Tohoku Area Pass
- Japan Rail Pass (ชื่อเรียกอื่น เช่น JR All Pass, JR Pass Nationwide ฯลฯ) เดินทางได้ทั่วภูมิภาคของญี่ปุ่นด้วยรถไฟของ JR รวมถึงชินคันเซ็น

การซื้อ PASS ท่องเที่ยวนั้น ควรวางแผนเที่ยวจากไทยไปเลย เพื่อซื้อ PASS จากบริษัทผู้จัดจำหน่ายในไทย (ส่วนใหญ่การซื้อจากต่างประเทศมักจะได้ลดราคา) แล้วค่อยนำมาแลกเมื่อถึงญี่ปุ่น ขอแนะนำให้ตรวจสอบข้อจำกัดของ PASS ด้วย รวมถึงการซื้อหรือใช้ PASS สำหรับนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องแสดงพาสปอร์ตเมื่อได้รับการร้องขอด้วย
หากเราวางแผนการท่องเที่ยว แนะนำให้ดูว่าสถานที่ที่เราต้องการไปอยู่ติดกับรถไฟสายไหน ผู้ให้บริการเจ้าไหน ให้ซื้อ PASS ของผู้ให้บริการนั้น แต่ถ้าเดินทางข้ามเมือง อาจจะต้องหา PASS เฉพาะภูมิภาค ส่วนถ้าต้องการเดินทางข้ามภูมิภาค อาจจะต้องพิจารณา Japan Rail Pass ซึ่งเราต้องคำนวณค่าโดยสารเป็นหลัก หากใกล้เคียงหรือแพงกว่าค่า PASS แนะนำให้ซื้อ PASS ไปเลยจะคุ้มกว่า

สุดท้ายคือบัตรจองที่นั่ง เป็นบัตรที่เอาไว้แสดงสิทธิที่นั่งบนรถไฟ คือเมื่อเราต้องการจองที่นั่งบนรถไฟแล้ว จะได้บัตรใบหนึ่งมาเป็นหลักฐานว่าเราได้รับที่นั่งบนรถไฟ ซึ่งถ้าเกิดมีพนักงานตรวจตั๋วมาขอตรวจสอบที่นั่งต้องยื่นบัตรให้เขา (บางขบวนเขาก็ไม่ตรวจถ้านั่งตรงที่ แต่ถ้าเห็นความผิดปกติเขาอาจเรียกบัตรดูได้ ดังนั้นต้องเก็บบัตรให้ดี ๆ)
แล้วทำไมต้องจองที่นั่ง? นั่งแบบไม่จองไม่ได้เหรอ? คำตอบคือได้ แต่เมื่อเราวางแผนการเดินทาง และมี PASS ที่สามารถจองที่นั่งได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม การจองที่นั่งไปเลยจะคุ้มกว่า เพราะสามารถเดินทางได้โดยไม่ผิดแผน และไม่ต้องไปลุ้นเอาที่ non-reserve seat ว่าจะมีที่นั่งหรือจะต้องยืนเอา
สุดท้ายจริง ๆ ละ ประเภท “อื่น ๆ” คือบัตรพิเศษ เนื่องจากหลายที่มักจะมีบัตรพิเศษ เช่น Kintetsu จะมีบัตร Thank You Ticket คือซื้อ 12, 14, 16 ใบในราคา 10 ใบ ใช้ได้เฉพาะวันหยุด บัตรประเภทนี้มักจะขึ้นกับผู้ให้บริการรถไฟ เอาเป็นว่าไปอ่านในเว็บดูละกันนะ

เข้าเกท
ก่อนหน้าที่จะเข้าเกท เราต้องมองป้ายให้ถูกก่อนว่าจะเข้าเกทไหน ถึงจะไปได้ถูกทาง เพราะไม่ใช่ทุกเกทที่เข้าแล้วจะพาไปหารถไฟสายที่ต้องการได้ ต้องดูป้ายบอกทางให้แน่ใจว่านี่คือทางที่จะไปจริง ๆ
เมื่อเราพร้อมจะขึ้นรถไฟแล้ว จะต้องรู้จักกับประตูทางเข้าหรือเกทก่อน โดยประเภทของเกทที่เห็นในญี่ปุ่นมักจะมีสามประเภท ดังนี้
- เกททางเข้า-ออกปกติ
- transfer gate
- ไม่มีเกท
สำหรับเกททางเข้าออกปกตินั้นคงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะว่าเราคงจะคุ้นเคยกับการเข้าออกรถไฟฟ้า BTS, MRT, ARL กันอยู่แล้ว แต่ที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมคือสองประเภทหลัง

Transfer Gate คือเกทใช้เปลี่ยนสายหรือเปลี่ยนขบวน (ไม่จำเป็นจะต้องมีทุกสาย) เช่น ถ้าต้องการเปลี่ยนสายจาก Nara เป็น Keihanna จะต้องผ่าน Transfer Gate ที่สถานี Ikoma โดยหน้าตาของ Transfer Gate เหมือนกับเกททางเข้าออก โดยสิ่งที่แตกต่างมีเพียงว่าเกทนี้เอาไว้ใช้สำหรับกั้นระหว่างชานชาลาเท่านั้น วิธีใช้ก็เหมือนเกทปกตินั่นแหละ
เกทรถไฟญี่ปุ่นนั้นฉลาดมาก ๆ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเสียบบัตรเข้าไปด้านไหน พลิกไปพลิกมายังไง มันก็อ่านได้ หรือ IC ก็แตะปุ๊บไฟกะพริบปั๊บ และยังมีเกทขนาดใหญ่พิเศษ สำหรับผู้มีกระเป๋าเดินทางด้วย ใครที่เป็นห่วงว่ากระเป๋าเดินทางตัวเองจะลอดเกทธรรมดาไม่ได้ เดินเข้าเกทนี้ได้เลย

ไม่มีเกท รถไฟญี่ปุ่นบางสายไม่ได้ใช้เพื่อรับปริมาณคนจำนวนมาก เช่น รถไฟตามสถานที่ท่องเที่ยวไกล ๆ ซึ่งอาจไม่มีเกท
วิธีเก็บเงินของรถไฟประเภทนี้ มีหลายแบบ เก็บเงินคล้ายกับรถเมล์ญี่ปุ่น ไปจนถึงต่างจังหวัดไกล ๆ อาจมีการใช้เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วเพื่อทำการปั๊มตราหรือเก็บตั๋วเลยก็ได้
มาให้ถูกชานชาลา
สถานีรถไฟญี่ปุ่นมีหลายชานชาลาเหลือเกิน ถ้าเจอสถานีใหญ่มาก ๆ อาจมีเกิน 20 ชานชาลา แน่นอนว่ามันชวนปวดหัว แต่ด้วยระบบป้ายก็ไม่ยากนักในการจะเดินไปให้ถูกชานชาลา
วิธีดูป้ายให้ไปถูกชานชาลา จะต้องดูว่าเราจะไปสายไหน ทางไหน ทางที่จะไปมีจุดสำคัญ คือสถานีไหนบ้าง เพราะป้ายหลายที่ไม่ได้บอกเฉพาะปลายทาง แต่จะบอกสถานีสำคัญระหว่างทางด้วย เช่น สถานีที่คนใช้บริการเยอะ หรือสถานีเปลี่ยนสายใหญ่ ๆ ดังนั้นควรจำสถานีสำคัญด้วย ถ้าจำไม่ได้ก็จด แต่ถ้าลืม ระหว่างทางนั่งรถไฟกางแผนที่ดูได้ แต่ดีที่สุดให้เปิด Google Maps แล้วดูภาพถ่ายภายในสถานี ซึ่งหลายครั้งมักจะติดป้ายบอกทางด้วย ให้จำไว้เลยก็ดี
สถานีขนาดใหญ่มากอย่าง Tokyo, Shin-Osaka, Kyoto จำนวนรถไฟที่มาจอดอาจมีจำนวนมาก สถานีเหล่านี้มักจะมีจอเพื่อบอกว่า รถไฟกำลังจะมาในสถานีไหน ดังนั้นเราอาจต้องสังเกตจากจอว่ารถไฟที่ต้องไป จะจอดที่ชานชาลาไหน เพื่อไปขึ้นให้ถูกชานชาลา ซึ่งในบางครั้งจออาจติดไว้ตั้งแต่ลงจากชานชาลาก็สังเกตเห็นได้เลย

ถ้าเกิดเจอรถไฟสายวงกลมอย่าง Yamanote, Osaka Loop Line การใช้ตรรกะป้ายบอกสถานีปลายทางจะใช้ไม่ได้ทันที แต่จะบอกสถานีสำคัญว่านั่งทางนี้ไปสถานีไหนได้ใกล้บ้าง ให้ดูว่าจะนั่งวนทวนเข็มหรือตามเข็มจะใกล้สถานีเป้าหมายมากที่สุด

ขึ้นรถไฟให้ถูกขบวน
มาถูกชานชาลา ก็ใช่ว่าจะรอด เพราะอย่าง BTS, MRT นั้น ชานชาลาเดียวกัน ก็ต้องไปทางเดียวกันถูกไหม แต่ตรรกะนี้ไม่สามารถใช้กับรถไฟญี่ปุ่นได้ !!
ญี่ปุ่นอาจจัดตารางรถไฟให้สับรางวิ่งข้ามสาย บางขบวนอาจจะไม่ได้ไปจนถึงปลายสาย หรือบางขบวนอาจจะมีการปลดแยกสองขบวนเพื่อไปคนละทาง แล้วทีนี้เราจะทราบได้ยังไงว่าควรจะขึ้นขบวนไหน

สำหรับขบวนพิเศษที่ขึ้นแล้ววิ่งข้ามสายหรือหยุดไม่ถึงปลายทาง วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงคือ การศึกษาและวางแผนการเดินทางจาก Hyperdia แล้วก็ขึ้นให้ถูกตามขบวนตามเวลา แต่ถ้าเกิดหน้าสิ่วหน้าขวาน ก็ต้องไปพึ่งบนชานชาลา กับแผนที่รถไฟ โดยในตารางรถไฟ (ซึ่งมักจะมีติดบนชานชาลา) หากมีขบวนพิเศษจะทำสัญลักษณ์บอกไว้พร้อมคำอธิบายด้านล่างป้าย ส่วนป้ายบอกขบวนถัดไปบนชานชาลา และป้ายที่ติดไว้เหนือรถไฟก็จะบอกด้วยเช่นกัน เพื่อความชัวร์ควรจะเช็คอีกครั้งก่อนขึ้นรถไฟว่าจะพาเราไปได้ถูกทางจริง ๆ

ถ้าเจอรถไฟบางประเภทแยกตู้กลางทาง แนะนำให้ลองศึกษาจากป้ายบนชานชาลา ก็น่าจะพอมีบอกอยู่บ้าง อย่างเช่น JR วิ่งไป Kansai Airport มี 8 ตู้ สี่ตู้แรกไป Kansai Airport ส่วนสี่ตู้หลังไป Wakayama โดยจะปลดตู้กลางทาง
ในสถานีใหญ่ ๆ บางแห่งอาจติดสติ๊กเกอร์ไว้ที่ชานชาลาด้วย ในจอแสดงผลจะบอกว่าหากต้องการขึ้นรถไฟขบวนนี้ต้องต่อแถวหลังสติ๊กเกอร์หมายเลขใด และอาจจะมีตู้พิเศษ เช่น ตู้เฉพาะสุภาพสตรี ตรงนี้ถ้าไม่ใช่กลุ่มหญิงล้วนขึ้นไม่ได้ ตรงชานชาลาจะมีสติ๊กเกอร์แปะ ดูให้ดี ๆ ด้วย

รถไฟญี่ปุ่นมักจะมี priority seat ซึ่งจะเป็นที่สำหรับคนแก่, คนท้อง, ผู้พิการ, แม่ที่มีเด็กอ่อน, ผู้ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งถามว่านั่งได้ไหม คำตอบคือได้ แต่เมื่อมีคนที่เข้าข่ายในการนั่ง priority seat เดินเข้ามา ต้องลุกให้นั่ง (ดังนั้นถ้ามีที่อื่นว่างนั่งที่อื่นดีกว่า)
เปลี่ยนขบวนรถไฟ
เมื่อเราต้องการเดินทางในระยะไกล เราอาจต้องเปลี่ยนสายรถไฟ หรือเปลี่ยนขบวนรถไฟให้ไปถึงปลายทาง ในบางครั้งเราอาจต้องเปลี่ยนขบวนหลายรอบด้วย

วิธีเปลี่ยนขบวนไม่ได้ยากมากนัก เพียงแค่มองดูป้ายตามสถานี ก็ไปให้ถูกชานชาลา ถ้ามี transfer gate ก็เสียบบัตรหรือแตะ IC เพื่อผ่านเกท ถ้าต้องออกจากระบบหนึ่งไปเข้าอีกระบบหนึ่ง หากเป็น IC ก็แตะออกแตะเข้าได้ แต่ถ้าเป็นบัตรเที่ยวเดียวอาจจะต้องซื้อตั๋วใหม่ (ย้ำว่าอาจจะ เพราะบางระบบอาจไม่ต้องซื้อก็ได้)

ในขบวนรถไฟอาจประกาศว่าสถานีต่อไปจะสามารถเปลี่ยนไปสายไหน แล้วสายที่จะเปลี่ยนไปที่ไหนได้ หรือบางครั้งอาจประกาศว่าถ้าต้องการไปสายไหนให้ไปชานชาลาใด รวมถึงอาจมีการแสดงบนจอของสถานีด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มาก สามารถลดเวลาการหลงบนชานชาลาได้ โปรดสังเกตดี ๆ
ลงให้ถูกทาง
เมื่อมาถึงจุดหมายปลายทาง (หรือเมื่อต้องเปลี่ยนขบวน) เราจะต้องคอยดูตลอดว่ารถไฟถึงที่ไหนแล้ว อีกกี่สถานีจะลง ถ้าเป็นรถไฟประเภท Local อาจไม่ได้สำคัญมาก แต่ Express ที่ไม่ได้จอดทุกสถานี เลยทียาวเลยนะ

วิธีชัวร์สุดคือวางแผนเดินทางจาก Hyperdia ซึ่งจะมีบอกเวลาถึงจุดหมาย ดังนั้นเราสามารถดูได้ถ้าขึ้นตรงขบวน แต่ถ้าไม่ก็มีวิธีช่วยแบบดาบหน้าดังนี้
- หากกำลังเดินทางอยู่ บนขบวนรถไฟจะมีตั้งแต่จอไฟ LED เป็นตัววิ่ง ไปจนถึงจอ LCD เพื่อบอกว่ากำลังจะไปจอดที่สถานีใด หรือถ้าไม่มีก็ต้องคอยฟังเสียงประกาศภายในขบวนเอา
- หากจอดอยู่ที่สถานี หาป้ายของสถานี ซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่สังเกตได้ง่าย แล้วดูชื่อสถานี

Fare Adjustment
นี่ก็คงเป็นสิ่งใหม่อีกอย่างที่ไม่มีในรถไฟประเทศไทย มันคือ Fare Adjustment Machine เมื่อเราเจอปัญหาการซื้อตั๋วมามูลค่าน้อยกว่าการเดินทางจริง ถ้าเป็นประเทศไทยเราสามารถติดต่อขอเพิ่มเงินได้ที่เคาน์เตอร์ แต่ที่ญี่ปุ่น จะมีเครื่องนี้ไว้แก้ปัญหาโดยเฉพาะ เรียกว่า Fare Adjustment Machine ตั้งอยู่แถว ๆ เกทเกือบทุกทางออก (ทางออกเล็ก ๆ อาจจะไม่มี)
Fare Adjustment Machine มีไว้สำหรับเมื่อเราซื้อตั๋วในราคาที่น้อยเกินไป เราก็ไปที่เครื่อง สอดตั๋วแล้วก็ทำตามขั้นตอน ใส่เงินเพิ่มตามจำนวน เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ สามารถออกจากเกทได้แล้ว
Fare Adjustment จะนำมาช่วยในการเดินทางเช่นกัน ถ้านึกไม่ออกว่าจะต้องไปลงสถานีไหน ให้ซื้อตั๋วราคาถูกไว้ก่อน แล้วพอถึงปลายทางก็ใช้ Fare Adjustment เพิ่มราคาเอาได้
เช่นเดียวกับเครื่องจำหน่ายตั๋ว อย่าลืมดูว่าเป็นเครื่องสำหรับบริษัทใด สายไหน

ออกให้ถูกทาง ถึงจุดหมายเร็วขึ้น
เข้าก็ยาก ออกก็ยากอีก อะไรนักหนา – -”
จริง อยู่ว่าการออกจากสถานีรถไฟนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเกิดไปเจอสถานีใหญ่ที่อาจจะมีถึง 20 ทางออก บางคนก็อาจจะคิดว่า ออก ๆ ไปเหอะ แล้วค่อยไปเดินเลียบถนนหาเอา แต่ขอบอกไว้เลยว่าคุณคิดผิด
ตรรกะนี้สามารถใช้ได้กับสถานีที่มีขนาดเล็ก ๆ แต่ถ้าคุณไปเจอสถานี Kyoto, Osaka (Umeda) ที่กว้างและยาวมาก มีทั้งใต้ดินบนดิน การออกให้ถูกทางจึงสำคัญมาก ถ้าออกผิดอาจต้องเดินอีกเป็นกิโล ดังนั้น สิ่งที่ควรจะรู้คือ “ทิศ” และ “หมายเลขทางออก”

การวางแผนสามารถดูจาก Google Maps, Apple Maps (โหมด Transit) ว่า สถานีที่จะลงมีทางออกทิศไหนบ้าง และสถานที่เป้าหมายอยู่ทางออกไหน อยู่ทิศใด
ป้ายทางออกหลายครั้งมักเขียนกำกับพร้อมกับทิศ เช่น North Exit, South Exit หรือมีเลขทางออกกำกับไว้ด้วย สถานีใหญ่ ๆ อาจมีเลขทางออกเขียนไว้ตั้งแต่ลงจากรถไฟ ก็ไปให้ถูกทางก็จะได้ไม่ต้องเดินไกล
หลงแล้ว ทำไงล่ะ?
การหลงในการเดินทางด้วยรถไฟขอแยกเป็นสองแบบ คือหลงในสถานี กับไปไหนก็ไม่รู้
การหลงในสถานีไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในประเทศไทย แต่ด้วยความที่สถานีรถไฟญี่ปุ่นเป็นอาณาจักร (สถานีเดียวก็มีเป็นสิบชานชาลาแล้ว บางสถานียังมีสถานีย่อยอีก) การหลงก็เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เรื่องยาก วิธีแก้ปัญหาคือตั้งสติว่าเรากำลังจะไปทางไหน ขึ้นรถไฟสายไหน แล้วก็ต้องไปให้ถูกทาง ถ้าไม่รู้ก็สามารถถามเจ้าหน้าที่รถไฟได้
ต่อไปคือการหลงแบบไปไหนก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะเกิดจากขึ้นรถไฟผิดขบวน, เลยจุดหมายไปแล้วก็ตาม สิ่งที่ต้องทำคือตั้งสติและรู้ให้ได้ว่ากำลังอยู่ที่ไหน จากนั้นหาในแผนที่ว่าจุดที่เราอยู่กับจุดที่เราไปอยู่ไกลกันแค่ไหน แล้วก็ลองหาทางดูว่าจะกลับไปได้อย่างไรบ้าง (ถ้าไม่ต้องเปลี่ยนสาย แค่ย้อนกลับไปก็สบายหน่อย) หรือถ้าไม่เข้าใจก็สามารถลงไปถามเจ้าหน้าที่ของรถไฟได้
ทั้งนี้ อย่าลืมว่าห้ามลน เพราะถ้าลนแล้วขึ้นรถไฟผิดขบวนซ้ำอีก ก็อาจจะเลยไปยาวได้
ทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการโดยสารรถไฟ
- พยายามจำตัวภาษาญี่ปุ่นของสถานีหรือสายที่เราต้องการไป เพราะในบางที่ป้ายมีภาษาอังกฤษก็จริง แต่ตัวเล็ก (มาก)
- ชิดซ้าย ชิดขวา ตามสถานที่ อย่าใช้หลักคันโตชิดซ้าย คันไซชิดขวาเป็นอันขาด เพราะอย่างในเมืองเกียวโตชิดขวา นอกเมืองชิดซ้าย ทางที่ดีที่สุดคือต่อแถวแล้วตามเขาไป
- ไม่ควรเดินหรือวิ่งบนบันไดเลื่อน แต่ก็ไม่ควรจะไปขวางชาวบ้านเขา

- อย่าแซงคิว
- ถ้าได้ยินเสียงรถไฟกำลังจะปิดประตู อย่าวิ่งขึ้นรถไฟ เพราะนอกจากจะอันตรายแล้ว ยังทำให้รถไฟล่าช้า ส่งผลต่อเนื่องให้ล่าช้าทั้งระบบ
- บนรถไฟญี่ปุ่นจะไม่คุยโทรศัพท์ ปิดเสียงโทรศัพท์ แต่สามารถเล่นหรือทำอะไรในโทรศัพท์ที่ทำให้ไม่เกิดเสียงได้
ในบทความครั้งนี้ก็เป็นบทความแบบโดยทั่วไปเกี่ยวกับรถไฟญี่ปุ่น ถ้าครั้งหน้ามีเวลาเพียงพออาจจะเขียนเจาะลึกในเรื่องของรถไฟแต่ละประเภทหรือแต่ละผู้ให้บริการ