JR เป็นชื่อย่อของผู้ให้บริการรถไฟญี่ปุ่นหรือ Japan Railway Company เป็นบริษัทที่ให้บริการรถไฟในญี่ปุ่น แต่เดิมเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ดังนั้นรถไฟของ JR จึงมีให้บริการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงรถไฟความเร็วสูง Shinkansen ก็เป็นของ JR เช่นกัน
ปัจจุบัน JR ไม่ได้เป็นบริษัทเดียว แต่แยกเป็นหลาย ๆ บริษัท โดยบริษัท JR ที่ให้บริการเฉพาะการขนส่งมวลชนเต็มตัวอยู่ 6 บริษัท แบ่งตามภูมิภาคและพื้นที่ให้บริการ ได้แก่
- JR Hokkaido http://www2.jrhokkaido.co.jp/global/
- JR East http://www.jreast.co.jp/e/
- JR Central (Tokai) http://english.jr-central.co.jp/index.html
- JR West https://www.westjr.co.jp/global/en/
- JR Shikoku http://www.jr-shikoku.co.jp/global/en/
- JR Kyushu http://www.jrkyushu.co.jp/english/
นอกจากนี้ยังมี JR Freight ที่ให้บริการขนส่งสินค้า และหน่วยสนับสนุนอย่าง JR Research, JR System ซึ่ง JR เหล่านี้ไม่ได้ให้บริการผู้ใช้ทั่วไป
ธุรกิจของ JR ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะให้บริการรถไฟเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจการผลิตรถไฟ ธุรกิจการขนส่งมวลชนแบบอื่นที่ไม่ใช่รถไฟ เช่น Bus, Highway Bus, Ferry ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างการพัฒนาพื้นที่ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม, ธุรกิจท่องเที่ยว, ธุรกิจให้เช่ารถยนต์, รถจักรยาน และอื่น ๆ อีกมาก
ครั้งนี้ไม่ได้จะพาไปรู้จัก JR ทั้งบริษัทแต่ก็ให้รู้จักคร่าว ๆ ซึ่งเนื้อหาจริง ๆ จะเริ่มหลังจากนี้ คือจะให้รู้ว่า JR มีรถไฟอะไรบ้าง ที่ต้องเขียนบทความของ JR โดยเฉพาะ เนื่องจาก JR ให้บริการครอบคลุมมาก แม้ว่าจะแยกตามภูมิภาค แต่ลักษณะการให้บริการโดยรวมและประเภทการให้บริการจะค่อนข้างคล้ายกัน
ประเภทของรถไฟ JR
รถไฟของบริษัท JR นั้น มักจะมีประเภทที่ค่อนข้างแน่นอน และไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ซึ่งเราสามารถระบุได้คร่าว ๆ สี่แบบ ดังนี้
- Local
- Rapid
- Limited Express
- Shinkansen
- รถไฟพิเศษ

เริ่มที่ Local กันก่อน Local นั้นจะเป็นประเภทที่จอด “ทุกสถานี” คือวิ่งไปทางไหน เจอสถานีไหนก็จอด ดังนั้นรถไฟประเภทนี้เข้าใจโคตรจะง่าย แต่ก็ช้าอ่ะนะ

ถัดไปก็คือ Rapid รถไฟประเภทที่เรียกว่า “ด่วน” ซึ่งความแตกต่างของ Local กับ Rapid คือ Rapid จะจอดไม่ทุกสถานี โดยจะจอดตามสถานีสำคัญ ๆ ในแต่ละภูมิภาคจะมี Rapid ที่แตกต่างกันด้วย Rapid บางครั้งอาจจะมีชื่อเรียกเฉพาะ หรือบางสายอาจจะไม่มี Rapid เลยก็เป็นได้ ซึ่งรถไฟ Rapid นี้จะสามารถนั่งได้โดยเสียค่าโดยสารเท่ากับ Local

ประเภทถัดไปคือ Limited Express รถไฟที่ต้องจองที่นั่งก่อน ซึ่งรถไฟประเภทนี้จะมีข้อดีคือเป็นรถไฟที่นั่งสบายมาก ที่นั่งจะมีความสบายพอ ๆ กับเครื่องบินและ Shinkansen โดยที่นั่งของ Limited Express นั้นจะมีทุกแบบ ตั้งแต่ที่นั่งแบบไม่ต้องจอง ที่นั่งปกติ, Green Car, Gran Class ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไปว่าทุกขบวนจะต้องมีที่นั่งทุกแบบ
Limited Express นั้นมักจะมีชื่อเรียกด้วย เช่น
- Narita Express (NEX) ให้บริการจากสนามบินนาริตะเข้าเมือง
- Azusa
- Thunderbird
- Kamome
- Haruka ให้บริการจากสนามบินคันไซเข้าเมือง Osaka, Kyoto
- Uzshio
Limited Express จำเป็นต้องจองที่นั่งไหม? จริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็น เพราะว่า Limited Express มักจะมีตู้สำหรับผู้ที่ไม่ได้จอง (non-reserved) ไว้ด้วย (แต่ไม่แน่ว่าจะมีทุกขบวน) แต่ว่าต่อให้ไม่ได้จองที่นั่งก็ต้องซื้อบัตร Limited Express อยู่ดี และบัตร Limited Express มักจะมีราคาแพงเกือบเท่ากับบัตรแบบจองที่นั่งเลย และยังต้องไปเสี่ยงลุ้นว่าจะมีที่นั่งหรือไม่ เพิ่มตังอีกนิดแล้วจอง ๆ ไปเถอะนะ

Shinkansen ประเภทเกือบสุดท้ายละ เป็นรถไฟประเภทความเร็วสูง และ Shinkansen นั้นดำเนินการโดย JR มีหลายสายดังนี้
- Tokaido Shinkansen (Tokyo – Nagoya – Shin-Osaka) เป็นรถไฟ Shinkansen สายแรกและสายที่ทราฟฟิกหนาแน่นที่สุด ดูแลโดย JR Central
- Sanyo Shinkansen (Shin-Osaka – Shin-Kobe – Himeji – Okayama – Hiroshima – Hakata) ดูแลโดย JR West
- Kyushu Shinkansen (Hakata – Kami-Kumamoto – Kagoshima) ดูแลโดย JR Kyushu
- Tohoku Shinkansen ดูแลโดย JR East
- Hokkaido Shinkansen
- Yamakata Shinkansen
- Akita Shinkansen
- Joetsu Shinkansen
- Hokuriku Shinkansen
Shinkansen นั้น เปรียบเสมือนกับเป็นรถไฟ Limited Express อีกแบบหนึ่ง (ดังนั้นหลาย Shinkansen ในหลายครั้งมักจะถูกเรียกว่า Super Express) ดังนั้นวิธีการจองตั๋ว, การนั่งที่ หรืออื่น ๆ ก็เหมือนกับ Limited Express เป๊ะ ๆ ซึ่งอาจจะมีบล็อกแยกอีกทีเกี่ยวกับการนั่งที่ (ถ้าไม่ขี้เกียจอ่ะนะ)

สุดท้ายจริง ๆ ละ รถไฟพิเศษ หรือรถไฟนำเที่ยว รถไฟประเภทนี้เป็นรถไฟที่มักจะจัดตามฤดูกาล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องเข้าไปดูตามเว็บไซต์ของ JR ในแต่ละภูมิภาค โดยรถไฟเหล่านี้มักจะเน้นการวิ่งตามสถานที่ท่องเที่ยว และเน้นการ sightseeing เป็นหลัก
ก่อนขึ้นรถไฟ ต้องดูยังไง?
ด้วยความที่ขบวนรถไฟ JR นั้นมีหลายแบบมาก ดังนั้นการขึ้นรถไฟให้ถูกขบวนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก วิธีดูแบบก่อนหน้าก็คือดูด้วย Hyperdia เนื่องจากรถไฟญี่ปุ่นจะค่อนข้างตรงเวลา ดังนั้นไม่ต้องกลัวพลาด
แต่การเช็คก่อนขึ้นรถไฟก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าในบางครั้ง Hyperdia ก็ผิดพลาดได้ (เคยเจอมาแล้ว) วิธีเช็คที่ดีที่สุดมีอยู่สองแบบ

แบบแรก คือป้ายบอกขบวนถัดไปบนชานชาลา โดยปกติแล้วป้ายมักจะมีรายละเอียดบอกว่าเป็นรถไฟประเภทอะไร มากี่โมง สายไหน และต้องยืนตรงไหน

อย่างที่สองคือป้ายบนขบวนรถ ซึ่งปกติแล้วป้ายจะมีติดอยู่ทุกตู้รถไฟ
ในหลาย ๆ สาย รถไฟญี่ปุ่นมักจะมีการปลดตู้กลางทาง ช่วงในเมืองอาจจะใช้รถไฟ 2 ขบวนต่อให้ยาวเป็น 8-10 ตู้ แต่เมื่อถึงสถานีกลางทางอาจปลดตู้เพื่อแยกขบวนเพื่อแยกปลายทางหรือเพื่อให้บริการในรอบขากลับเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อยไป

วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ ดูทุกครั้งก่อนขึ้นนะ จะได้ไม่ต้องพลาดเส้นทาง
บทความตอนแรก – รู้จักรถไฟญี่ปุ่น
จบละสำหรับบทความตอนที่ 2 สำหรับบทความตอนต่อไปถ้าไม่ขี้เกียจก็จะมีอีก ._______.