รถไฟญี่ปุ่นตอนที่ 6: สิ่งอำนวยความสะดวกของสถานีรถไฟ

สถานีรถไฟญี่ปุ่นนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กแบบเดิน 2-3 ก้าวก็พ้นชานชาลาแล้ว ไปจนถึงใหญ่จนต้องเดินเปลี่ยนสายกันทีเป็นกิโล แน่นอนว่ายิ่งสถานีใหญ่ก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเยอะมาก หรือบางสถานีก็มีห้าง, ทางเดินใต้ดิน และอีกมากมายที่พร้อมอำนวยความสะดวกได้

บทความรถไฟญี่ปุ่นตอนที่ 6 นี้จะมาอธิบายถึงสิ่งอำนวยความสะดวกหลัก ๆ ในสถานีรถไฟที่ควรรู้กันครับ ซึ่งแม้ว่าแต่ละสถานีอาจจะมีไม่เหมือนกัน แต่ก็ควรทราบไว้เผื่อจำเป็นต้องใช้บริการจะได้หาได้ครับ

ticket-vending-machine
ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ

1. ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ

ตู้ขายตั๋วอัตโนมัตินั้น มักจะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วเมื่อเราไปญี่ปุ่น สิ่งที่เราจะทำได้จากตู้อัตโนมัติก็มีตั้งแต่ซื้อบัตร IC, เติมเงิน IC, ซื้อตั๋วเดินทางเที่ยวเดียว และอื่น ๆ ซึ่งปกติแล้วตู้ขายตั๋วรุ่นใหม่ ๆ มักจะมีภาษาอังกฤษ หรือบางที่ดีกว่านั้นก็มีภาษาไทยแล้ว

ถ้าไปเที่ยว การซื้อตั๋วเที่ยวเดียวบ่อย ๆ นั้นไม่ควรทำเพราะเสียเวลา ดังนั้นออกบัตร IC มาเลยทีเดียวแล้วเวลาเงินหมดก็ไปเติม พอเงินหมดก็เติมที่ตู้ขายตั๋วจะดีกว่าครับ รายละเอียดต่าง ๆ อ่านได้ที่บทความตอนที่ 4

หรือจะมองพาสเดินทางแบบไม่จำกัดไว้ใช้งานก็น่าสนใจเหมือนกัน

shin-takaoka-tickets
ห้องจำหน่ายตั๋วสถานี Shin-Takaoka

2. ห้องจำหน่ายตั๋ว

สิ่งที่สถานีรถไฟขนาดใหญ่มักจะมีคือห้องจำหน่ายตั๋ว (บางที่อาจเป็นห้องเดียวกับห้องนายสถานี แต่บางที่ก็ไม่ใช่) ซึ่งการที่เราจะเข้าไปใช้ห้องจำหน่ายตั๋วนั้นมักจะเป็นกรณีที่แลกบัตร Exchange Order ที่ซื้อจากไทยเป็นพาส หรือคืนบัตร IC Card กับจองที่นั่งรถไฟในกรณีที่ใช้พาส (เพราะพาสจองกับตู้อัตโนมัติไม่ได้)

family-mart
ร้านสะดวกซื้อบนสถานีรถไฟ

3. ร้านสะดวกซื้อ

ในเมื่อสถานีรถไฟของญี่ปุ่นมันใหญ่มาก หลาย ๆ สถานีก็มักจะมีร้านสะดวกซื้อไว้บริการด้วย ซึ่งร้านสะดวกซื้อพวกนี้ก็มักจะมีข้าวกล่อง, น้ำ, ขนม ซึ่งอาจจะมีทั้งใน paid area หรือนอก paid area ซึ่งบางร้านก็ใหญ่ แต่บางร้านอาจจะเป็นเคาน์เตอร์เล็ก ๆ ก็ได้

delica-station
บางร้านก็อาจจะอยู่บนชานชาลาเลยก็ได้ เช่น Delica Station สถานีโตเกียว

4. ห้าง ร้านอาหาร ร้านขนม ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ

สถานีรถไฟบางสถานีนั้น หากมีขนาดใหญ่มาก ๆ ก็อาจจะมีร้านอาหารหรือร้านขนมอยู่ข้างในด้วย ซึ่งผมเองก็เคยเจอทั้งร้าน Tokyo Banana ในสถานีโตเกียว (ซึ่งมีรสอร่อย ๆ ให้เลือกเยอะกว่าที่สนามบินอีก), ร้านราเม็งยืนกินบนชานชาลารถไฟ, ร้านขนมปัง, ร้านเบนโตะ (ข้าวกล่อง)

ใน paid area อาจจะมีร้านไม่เยอะ แต่เนื่องจากสถานีรถไฟขนาดใหญ่บางแห่งก็จะมีทางเดินใต้ดิน หรือบางที่ก็คือมีห้างติดกับตัวสถานีเลยด้วย ดังนั้นบางสถานีก็อาจจะจัดโซนร้านอาหารเลย

vending-machine
เครื่องขายน้ำบนชานชาลาสถานีโตเกียว

แต่สถานีไหนที่มีขนาดเล็ก บางที่อาจจะมี “ตู้กดอัตโนมัติ” สำหรับขายเครื่องดื่ม, หนังสือพิมพ์, ไอศกรีม หรือขนมขบเคี้ยว (แต่สถานีใหญ่ก็มีตู้อัตโนมัติเหมือนกัน) ซึ่งจุดสำคัญของตู้อัตโนมัติในสถานีรถไฟคือมักจะรองรับ IC ด้วย (ตู้นอกสถานีส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับ IC)

5. ธนาคาร เอทีเอ็ม

เมื่อเงินหมดระหว่างไปเที่ยวสิ่งที่ควรนึกถึงคือเอทีเอ็ม ซึ่งปกติแล้วเอทีเอ็มก็สามารถหาตามสถานีรถไฟได้เช่นกัน แต่วิธีการตั้งเอทีเอ็มของญี่ปุ่นจะแตกต่างกับที่ไทยเล็กน้อย คือเราจะไม่ค่อยเห็นตู้เอทีเอ็มหลาย ๆ สีวางเรียงติดกัน แต่ตู้เอทีเอ็มที่ญี่ปุ่นมักจะวางแบบซุ้มไหนของธนาคารนั้น และร้านสะดวกซื้อมักจะมีธนาคารของตัวเองด้วย ดังนั้นก็จะไม่แปลกหากเห็นตู้เอทีเอ็มในร้านสะดวกซื้อ

หรือบางทีเราอาจจะเจอสาขาธนาคารอยู่ในสถานีรถไฟเลยก็ได้ แต่ส่วนมากทั้งตู้เอทีเอ็มและธนาคารมักจะอยู่นอก paid area ไม่ค่อยเห็นอยู่ใน paid area สักเท่าไร

coin-locker
Coin Locker สถานี Temma

6. Coin Locker

อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะมีตามสถานีรถไฟญี่ปุ่นคือ Coin Locker หรือล็อกเกอร์สำหรับเก็บสิ่งของ ห้องนี้จะจำเป็นมากเมื่อเราต้องเดินทางแต่ไม่อยากแบกกระเป๋าขนาดโตไปด้วย หรือบางครั้งออกจากโรงแรมแล้วก่อนไปสนามบินก็จะแวะช้อปปิ้งซะหน่อยแต่ไม่รู้จะเอากระเป๋าไปไว้ไหน Coin Locker คือคำตอบนั้น

ปกติแล้วสถานีรถไฟญี่ปุ่นขนาดใหญ่มาก ๆ มักจะมี Coin Locker อยู่แล้ว ส่วนสถานีขนาดกลางถึงเล็ก ถ้าอยู่ตามแหล่งช้อปปิ้งก็มักจะมีเหมือนกัน บางครั้งอาจจะอยู่หลืบ ๆ ให้ลองถามพนักงานดูได้

Coin Locker นั้นมีสองแบบ คือแบบโบราณใช้กุญแจไข กับแบบดิจิทัลที่มีคอมพิวเตอร์กลางคุม วิธีใช้ก็ต่างกันเล็กน้อยดังนี้

ถ้าเป็น Coin Locker โบราณใช้กุญแจไข เหรียญที่รองรับมักจะเป็นเหรียญ 100 เยนเท่านั้น ถ้าไม่มีเหรียญไปแลกกับพนักงานสถานีได้ วิธีใช้คือเอากระเป๋าเก็บให้เรียบร้อย ปิดประตูให้สนิท จากนั้นหยอดเหรียญ เมื่อหยอดเหรียญครบแล้วก็บิดกุญแจออกมาเป็นอันเสร็จสิ้น

แต่ถ้าเป็น Coin Locker รุ่นใหม่จะเป็นแบบคอมพิวเตอร์กลางคุม Coin Locker แบบนี้จะมีวิธีใช้บอกอยู่ โดยมากมักจะให้เราเอากระเป๋าไปเก็บที่ล็อกเกอร์ก่อนและกดปุ่มล็อก จากนั้นก็มากดดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบบจะอธิบาย

Coin Locker รุ่นใหม่มักจะมีระบบให้จ่ายเงินสองแบบ คือเงินสดและ IC โดยถ้าจ่ายเงินสดจะได้ใบเสร็จที่แปะ QR Code มาด้วย เมื่อจะมาเอากระเป๋าคืนก็ให้เอาใบเสร็จนี้มาสแกนที่เครื่องตู้ก็จะปลดล็อก แต่ถ้าใครใช้ IC ก็จะได้ใบเสร็จเหมือนกันแต่ไม่มี QR Code และวิธีเอากระเป๋าคืนก็คือแตะบัตร IC ใบที่เคยใช้จ่ายเงิน ตู้ก็จะปลดล็อกให้เอง

สิ่งที่พึงระวังในการใช้งาน Coin Locker

  • ราคาที่แปะหน้า Coin Locker คือราคา 1 วัน ซึ่ง 1 วันคือเวลาที่เรานำของเข้าตู้จนถึงเที่ยงคืน (ไม่ใช่คำนวณ 24 ชั่วโมง) ดังนั้นถ้าเอาของเข้าตู้ตอนสองทุ่มมาเอาตอนตี 1 คิดเป็นราคาสองวันไม่ใช่วันเดียว
  • การคิดราคา Coin Locker มากกว่า 1 วัน คือถ้าผู้ใช้มาเอาของวันที่ 2 หรือ 3 แล้ว ถ้าจะเปิดตู้ล็อกเกอร์จะเรียกเงินเพิ่ม ให้ใส่เงินให้พร้อมก่อนมิฉะนั้นจะไม่ปลดตู้ให้
  • Coin Locker โดยมากสามารถฝากของได้นานสุด 3 วัน ถ้าวันที่ 3 เที่ยงคืนยังไม่มาเอาจะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บของออกไปและถ้าจะเอาคืนต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่พร้อมจ่ายค่าปรับและค่าล็อกเกอร์
  • ถ้าจะจ่ายเงินสดกับ Coin Locker กรุณาเตรียมเงินให้พร้อมจ่ายทันที เพราะถ้าใส่เงินไม่ครบเครื่องบางรุ่นมีระยะเวลารีเซ็ท เช่นราคา 300 เยน ถ้าใส่แค่ 100 เยนแล้วทิ้งไว้นาน 2 นาที เครื่องจะรีเซ็ทเป็น 300 เยนใหม่แล้วก็ต้องจ่ายราคาเต็มอีกครั้ง (เท่ากับ 100 เยนหายกลางอากาศเลยนะ)
  • ถ้าจะจ่าย IC กับ Coin Locker กรุณาเติมเงินให้พอก่อนมาจ่าย
  • ไม่ว่าจะเป็นกุญแจ, ใบเสร็จพร้อม QR Code หรือ IC ที่ใช้ปลดล็อกตัวล็อกเกอร์ กรุณาอย่าทำหายมิฉะนั้นจะวุ่น
  • จำตำแหน่งล็อกเกอร์ให้ดี ง่ายสุดคือถ่ายรูปไปเลย (ถ้าเป็นล็อกเกอร์ที่ออกใบเสร็จ ในตัวใบเสร็จจะมีตำแหน่งล็อกเกอร์บอกด้วย ถ้าหาไม่เจอถามพนักงานเอาใบเสร็จให้ดูได้)

7. ห้องข้อมูลนักท่องเที่ยว

ปกติแล้วสถานีรถไฟซึ่งเป็นสถานีหลัก และสถานีที่อยู่ติดสนามบินนานาชาติมักจะมีห้องข้อมูลนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งปกติแล้วห้องข้อมูลนักท่องเที่ยวมักจะมีไว้ให้นักท่องเที่ยวสอบถามข้อมูล, ขอแผนที่, ซื้อหรือแลกพาส

jr-tokushima
จุดเชื่อมต่อรถสาธารณะหน้าสถานีรถไฟ Tokushima

8. จุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ

ในญี่ปุ่นนั้นรถไฟมักจะเป็นขนส่งมวลชนที่มีผู้ใช้ปริมาณมาก จึงทำให้พื้นที่สถานีรถไฟมักจะถูกใช้เป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ด้วย ที่ชัดเจนที่สุดคือรถเมล์และแท็กซี่ ซึ่งสถานีใหญ่ ๆ อย่างเช่นสถานีประจำจังหวัดจะเป็นฮับรถเมล์ที่มีรถเมล์หลายสายวิ่งเข้ามาที่หน้าสถานี ส่วนสถานีเล็ก ๆ อาจจะมีป้ายรถเมล์ที่มีรถเมล์เพียงไม่กี่สายเท่านั้น

นอกจากรถเมล์ธรรมดา ที่สถานีรถไฟของญี่ปุ่นโดยเฉพาะสถานีขนาดใหญ่ก็จะมี Highway Bus ด้วย ซึ่งรถเมล์เหล่านี้อาจจะวิ่งไปจังหวัดอื่นหรือพาไปส่งสนามบิน

และด้วยความเป็นญี่ปุ่น ที่นี่จะมีตารางรถเมล์ด้วย ส่วนความแม่นยำก็สู้รถไฟไม่ได้หรอก เพราะว่าต้องวิ่งบนถนน แต่ตารางรถเมล์ก็พอจะใช้เพื่อกะเวลาได้ระดับหนึ่ง

9. ห้องสำหรับนั่งรอ ห้องสูบบุหรี่

สถานีถไฟของญี่ปุ่นหลาย ๆ ที่มีห้องสูบบุหรี่ด้วย ส่วนสถานีขนาดใหญ่ (ที่มักจะมีชินคันเซ็นจอด) มักจะมีห้องนั่งรอด้วย เพื่อให้ไม่ต้องไปนั่งรอที่ชานชาลาของสถานี แต่ถ้าสถานีเล็ก ๆ อาจจะมีเก้าอี้นั่งรถตามชานชาลาอย่างเดียว

lavatory-sign
ป้ายบอกทางไปห้องน้ำ

10. ห้องน้ำ

สุดท้ายคือสิ่งที่ทุกคนถามหา ห้องน้ำ เพราะว่าการเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่นนั้นยาวนานเหลือเกิน และรถไฟบางขบวนก็อาจจะไม่มีห้องน้ำในตัว (ปกติห้องน้ำในตัวมักจะต้องเป็น Limited Express หรือชินคันเซ็น รถไฟธรรมดาไม่ค่อยมี) ดังนั้นเมื่อถึงที่หมายหรือรอต่อขบวนแล้วมีเวลา ก็หาห้องน้ำเข้าได้เลย หรือถ้าไม่สามารถหาห้องน้ำตามแหล่งช้อปปิ้งหรือสถานที่ท่องเที่ยวได้ การมาเข้าห้องน้ำที่สถานีรถไฟก็ดีเหมือนกัน

สถานีรถไฟในญี่ปุ่นนั้นมักจะมีห้องน้ำ แต่ก็ไม่ใช่จะมีทุกที่ เพราะบางสถานีที่เล็กมาก รถไฟจอดไม่ค่อยถี่ อาจจะมีแค่ชานชาลาสำหรับรถไฟจอดเทียบอย่างเดียวเท่านั้น

ข้อควรทราบ: สถานีรถไฟญี่ปุ่นบางที่อาจมีห้องน้ำเป็นส้วมนั่งยองเท่านั้น…

trash-can

11. ถังขยะ

เชื่อไหมว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่หาถังขยะได้ยากยิ่ง … คือปกติแล้วถ้าข้างตู้อัตโนมัติหรือร้านสะดวกซื้อก็มักจะวางถังขยะไว้ เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีนิสัยที่ซื้อแล้วทานและทิ้งตรงนั้น แต่ข้อเสียคือถังขยะข้างตู้อัตโนมัติมักจะเป็นถังขยะประเภทเดียวกับของที่ขายในตู้นั้น เช่นตู้ขายน้ำก็จะมีแต่ถังใส่ขวดหรือกระป๋อง และถ้าออกจากโซนตู้อัตโนมัติหรือร้านสะดวกซื้อแทบจะไม่มีถังขยะให้ทิ้งเลย

แต่สำหรับสถานีรถไฟนั้น มีถังขยะครบทุกประเภทครับ! ดังนั้นถ้านึกไม่ออกว่าจะทิ้งขยะที่ไหนอย่าทิ้งเรี่ยราด ให้เก็บใส่กระเป๋าแล้วเอามาทิ้งที่สถานีรถไฟจะดีกว่าครับ

Advertisement
รถไฟญี่ปุ่นตอนที่ 6: สิ่งอำนวยความสะดวกของสถานีรถไฟ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s