เรื่องเงินเรื่องใหญ่ เมื่อต้องไปเที่ยวญี่ปุ่น

จริง ๆ เรื่องเงินก็เรื่องใหญ่ตลอดนั่นล่ะ เพราะไปที่ไหนไม่มีเงินก็ลำบาก วันนี้ก็เลยอยากจะมาอธิบายว่าแล้วเราจะเตรียมพร้อมเรื่องเงินก่อนไปต่างประเทศยังไงดีล่ะ

วันนี้ผมจะมาแชร์ประสบการณ์ว่า ก่อนต้องไปต่างประเทศซึ่งผมเองไปญี่ปุ่นแบบคนเดียว ต้องวางแผนเรื่อง “เงิน” ยังไงบ้าง โดยจะเริ่มจากการแชร์ว่าเงินสำหรับใช้จ่ายมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

money-1258597_1280
ภาพจาก Pixabay

1. เงินสด

เงินสดคือสิ่งที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดในการใช้จ่าย ข้อดีที่สำคัญสุดของเงินสดคือร้านไหนก็รับ และเราจะเห็นเรทเงิน ณ วันที่แลก ซึ่งเป็นเรทที่ตรงไปตรงมาที่สุด รู้ว่าเรากำลังใช้จ่ายเรทเงินเท่าไร

แน่นอนว่ามีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย โดยข้อเสียของเงินสดก็คือการพกเงินสดเยอะ ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีเพราะเสี่ยงต่อการหายแล้วไม่ได้คืนมาก ๆ เงินสดก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่อย่าถือเงินสดเยอะมาก พกแต่พอเหมาะพอควร

โดยปกติแล้ว ตอนจะแลกเงินต่างประเทศที่เป็นเงินสดเยอะ ๆ วิธีที่ดีที่สุดคือใช้บริการร้านแลกเงิน เลือกร้านจากเรทดูได้ ถ้าเป็นเยนตามห้างก็มี แต่ถ้าเป็นเงินสกุลอื่นที่หายากอาจต้องไปไกลหน่อย เช่นสำนักงานใหญ่

coin-locker
ตู้อัตโนมัติญี่ปุ่นหลาย ๆ ตู้ก็รับแต่เงินสด เช่น Coin Locker สถานี Temma

เมื่อกลับจากเที่ยวแล้ว จะแลกกลับเป็นเงินไทยดีหรือเปล่านั้น ต้องลองคำนวณว่า เหลือเงินเยอะไหม และจะไปอีกทีเมื่อไร ซึ่งถ้าเหลือเงินไม่เยอะแล้วคาดว่าอีกไม่นานก็ไปอีกแล้ว เก็บเงินส่วนนี้ไว้ดีกว่าไปแลกคืน หรือถ้าเห็นว่าคนใกล้ตัวกำลังจะไปเที่ยวอีกทีก็เอาไปขายให้ก็ได้

กรณีนี้อาจจะยกเว้นดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะว่าเป็นสกุลเงินที่ค่อนข้างสากล ประเทศที่รับเยอะ ฉะนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องแลกคืนก็ได้ถ้าคิดจะไปเที่ยวอีก

2. บัตรเดบิต และบัตรเครดิต

บัตรเดบิตและบัตรเครดิตถือเป็นทางเลือกในการใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง เพราะการพกเงินสดเยอะ ๆ ไม่ใช่ปลอดภัย และบัตรนี่เองที่จะเป็นตัวช่วยด้านการเงินที่ดีที่สุดเมื่อต้องเจอเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างเช่นตกเครื่องและต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่เดี๋ยวนั้น

อีกข้อดีของบัตรเครดิตและบัตรเดบิต คือปกติแล้วห้างมักจะจัดโปรโมชั่นเป็นประจำ ดังนั้นขอแนะนำให้ลองศึกษาโปรโมชั่นให้ดี ๆ ก่อนไป จะคุ้มมาก รวมถึงบัตรสามารถกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มออกมาได้ด้วย เป็นวิธีฉุกเฉินอีกข้อถ้าอยู่ต่างประเทศแล้วเงินสดหมด แต่ขอแนะนำให้กดเงินสดจากบัตรเดบิต เพราะถ้ากดจากบัตรเครดิตระวังจะเป็นรายการเบิกเงินสดล่วงหน้าที่จะเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเพิ่มจากค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียจากการกดเงินจากตู้อยู่แล้ว

american-express-89024_640
ภาพจาก Pixabay

มีข้อดีใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย เพราะข้อเสียของบัตรเครดิตคือเรทเงินจะขึ้นกับผู้ให้บริการบัตรที่ประกาศบนเว็บไซต์ เช่น Visa, Mastercard, JCB, UnionPay หรือ Amex ที่มักจะแพงกว่าร้านแลกเงิน จากการสำรวจคร่าว ๆ ของผู้เขียนแล้ว พบว่าเรทสกุลเงินทั่วไป Mastercard มักจะถูกสุด ส่วนเรทเยน Mastercard และ JCB มักจะอยู่ใกล้ ๆ กัน มีถูกแพงสลับกันบ้าง ส่วน Visa มักจะแพงที่สุด

นอกจากเรทโดยผู้แลกเงินแล้ว ธนาคารเจ้าของบัตรจะคำนวณค่าความเสี่ยงในการแปลงสกุลเงินเพิ่มอีก 2.5% ด้วย หรือว่าง่าย ๆ คือคุณจะแลกเงินแพงขึ้นอีกสูงสุด 2.5% ของเรทผู้ให้บริการบัตร ตรงนี้อาจต้องคำนวณเข้าไปเป็นค่าใช้จ่ายด้วยว่าถ้าใช้โปรโมชั่นจากบัตรเครดิตเทียบกับจ่ายด้วยเงินสดอะไรจะถูกกว่ากัน และต่างกันแค่ไหน ถ้าต่างกันไม่มากควรใช้บัตรแล้วเก็บเงินสดไว้ใช้กับร้านที่ไม่รับบัตร แต่ถ้าต่างกันมากควรเลือกอันที่ถูกกว่า

ปัจจุบันมีบางธนาคารลดค่าความเสี่ยงนี้ หรือบางธนาคารอาจไม่เก็บเลย บางช่วงก็อาจจะมีโปรโมชั่นพิเศษแคชแบคจากการใช้จ่ายในต่างประเทศด้วย

ข้อเสียอีกเรื่องของเรทเงิน ถ้าเป็นบัตรเดบิตมักจะใช้เรทวันนั้น แต่บัตรเครดิตจะมีความยากเพิ่มเติมคือเรทเงินไม่ใช่วันที่รูด แต่เป็นวันที่ร้านค้าเรียกเก็บเงิน ซึ่งผู้ใช้บัตรไม่รู้ด้วยว่าร้านจะเรียกเก็บวันไหน ถ้าเรทถูกลงก็ดี แต่ถ้าโชคร้ายเรทพุ่งก็คุณจะจ่ายแพงขึ้นอีก

credit-card-1730085_1280
ภาพจาก Pixabay

สุดท้ายคือ เนื่องจากระบบบัตรขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานทางไอที ซึ่งแม้ว่าการที่ระบบบัตรเครดิตล่มข้ามวันจะไม่ได้เห็นบ่อยนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย และถ้ามันเกิดขึ้นตอนที่ต้องใช้เงินล่ะก็…

วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือแก้ที่ตัวเราเองครับ ผมจะพกบัตรเครดิตไว้มากกว่า 1 ใบ ซึ่งจะต้องต่างกันที่สถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัตรด้วย เช่น มีบัตร Visa ของธนาคาร A ถือคู่กับ Mastercard ของธนาคาร B เพราะนอกจากจะทำให้เราไม่พลาดโปรโมชั่นของบัตรเครดิตแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงของการจะใช้เงินแล้วรูดไม่ผ่านอีกด้วย

สุดท้าย สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนคือ ธนาคารจะมีระบบ Fraud Detection เพื่อป้องกันการถูกขโมยบัตรเครดิตไปรูด ซึ่งปกติแล้วธุรกรรมที่มักจะถูกสงสัยคือธุรกรรมที่ทำในต่างประเทศหรือออนไลน์ ดังนั้นถ้าจะไปต่างประเทศ โทรไปแจ้งคอลเซ็นเตอร์ของบัตรเครดิตสักหน่อยว่าจะไปประเทศไหนวันที่เท่าไร เพื่อป้องกันการโดนล็อกบัตร (แจ้งเสร็จแล้วสอบถามโปรโมชั่นต่อด้วยก็ดี) และโดยปกติเบอร์คอลเซ็นเตอร์ก็อยู่หลังบัตร พลิกแล้วกดโทรได้เลย

3. บัตรพรีเพด บัตรแคชการ์ด

ตัวกลางที่อยู่ระหว่างเงินสดกับบัตรเครดิตมักจะเป็นบัตรพรีเพดหรือบัตรแคชการ์ด ซึ่งจะเป็นบัตรไว้ใช้แทนเงินสด เติมเงินเข้าไปเมื่อจะใช้ ไม่มีวงเงินเหมือนบัตรเครดิต ข้อดีของบัตรประเภทนี้คือไม่ต้องพกเงินสด ใช้จ่ายสะดวก ไม่ต้องเอาวงเงินบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคารซึ่งมีจำนวนมากผูกกับตัวบัตร

jr-east-suica-card
Suica ตัวอย่างบัตรพรีเพดในญี่ปุ่น

แต่ข้อเสียของบัตรพรีเพดคือเราต้องวางแผนจำนวนเงินที่จะใช้ให้ดี ๆ เพราะถ้าน้อยไปอาจจะต้องเติมบ่อย ๆ ซึ่งก็ไม่สะดวกนัก แต่ถ้ามากไปก็อาจจะต้องทิ้งเงินไว้ในบัตรเยอะในกรณีเก็บบัตรไว้หาโอกาสใช้คราวหน้า แต่ถ้าคืนก็อาจโดนหักค่าธรรมเนียมตอนคืนบัตร

บัตรพรีเพดที่นำไปจากประเทศไทยที่ใช้จ่ายได้ทั่วโลกส่วนมากจะเป็น Visa/Mastercard Prepaid ออกได้ตามธนาคารหรือผู้ให้บริการ e-wallet ในไทย แต่ถ้าไปญี่ปุ่นแนะนำซื้อบัตร Suica, ICOCA หรือ IC ที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจะดีกว่า เพราะร้านที่รับ IC ในญี่ปุ่นมีเยอะมาก ใช้จ่ายสะดวก ใช้เสร็จแล้วจะเก็บไว้หรือคืนที่สนามบินก็ได้

4. จ่ายล่วงหน้า

สุดท้ายคือระบบจ่ายล่วงหน้า ถ้าคุณจองโรงแรม, รถ และอื่น ๆ แล้วจ่ายล่วงหน้าได้ก็ดี ข้อดีคือคุณจ่ายมาแล้ว ดังนั้นมาถึงหน้างานคุณจะได้ไม่ต้องแลกเงินสดหรือรูดบัตรจ่าย แต่อย่าลืมปริ๊นท์หลักฐานการจองเป็นกระดาษออกมาด้วย

japan-rail-pass
Japan Rail Pass จ่ายค่าซื้อรถไฟไปก่อน แล้วค่อยไปแลกตั๋วจริงที่ญี่ปุ่น

ส่วนข้อเสียคือ ระบบจ่ายล่วงหน้าไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือบัตร สิ่งที่พึงระวังคือ ระวังโดนโกง เช็คข้อมูลให้ดีว่าเว็บต้องน่าเชื่อถือ ตัวแทนต้องน่าเชื่อถือ รวมถึงระบบตัดเงินบัตรก็ต้องดูน่าเชื่อถือ ถ้าไม่ไว้ใจว่าระบบจะทำเลขบัตรหลุดไหมใช้บัตรที่วงเงินน้อย ๆ ไว้ก่อนดีกว่า

เมื่อจบเรื่องประเภทของเงินแล้ว ละต่อไปจะต้องวางแผนการใช้เงิน ต้องคำนึงถึงอะไรบ้างล่ะ?

คำตอบคือ วางแผนตารางเที่ยวให้ดี ๆ ครับ

เนื่องจากเราวางแผนตารางเที่ยวไว้แล้ว เราจะได้กำหนดว่า จะต้องใช้จ่ายที่ไหน โดยค่าใช้จ่ายที่จะค่อนข้างคงที่และควรจะเตรียมไปคือ ค่าเดินทาง ซึ่งเราจะสามารถซื้อพาสหรือจองที่ไทยก่อนไปได้ และค่าที่พัก ซึ่งมักจะบอกไว้แล้ว จะได้เตรียมเงินสดหรือบัตรไปได้

หลังจากนี้จึงค่อยคำนวณค่ากิน ว่าเราจะกินกี่มื้อ มื้อละเท่าไร แล้วหลังจากนั้นค่อยคำนวณค่าช้อปปิ้ง แล้วค่อยคิดว่าจะแลกเงินเท่าไร

เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ วางแผนแล้วเที่ยวให้สนุกกัน

 

Advertisement
เรื่องเงินเรื่องใหญ่ เมื่อต้องไปเที่ยวญี่ปุ่น

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s