บทปฏิเสธความรับผิดชอบ: บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาจจะมียกกรณีตัวอย่างให้ในระดับหนึ่ง แม้บทความนี้จะไม่สามารถนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่สามารถอ่านและแสดงความคิดเห็นร่วมกันได้
ข้อควรทราบ: ในบทความนี้อาจใช้คำว่า AI, อัลกอริทึม และคำที่มีนัยคล้าย ๆ กันปะปนกัน โปรดทราบว่านี่อาจเป็นคำที่ความหมายเดียวกัน
ระบบข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นมาบนโลกนานแล้ว แต่รูปแบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของมนุษย์เปลี่ยนไปมาก ซึ่งลักษณะการข่าวจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่การประกาศข่าวสารในชุมชน, วิทยุ, โทรทัศน์ และมาถึงยุคอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อทั่วโลกเข้าด้วยกัน ทำให้ตอนนี้ไม่ใช่แค่ localize แต่เป็น globalize
ทุกยุคทุกสมัย ข่าวสารที่เราได้รับการนำเสนอนั้นถูกเลือกมาไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะคนที่ประกาศข่าวจะเลือกมาอยู่แล้วว่าอะไรสมควรนำมาออกข่าว อะไรไม่สมควรนำมา จนถึงยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คที่หลาย ๆ คนสงสัยว่ากำลังถูกเลือกข่าวด้วยหรือ เราก็กำลังถูกเลือกข่าวจริง ๆ โดยสิ่งที่เรียกว่าอัลกอริทึม
อัลกอริทึมมักจะถูกชี้ชัดว่ามีความเที่ยงตรง และเป็นกลาง แต่มันจะเป็นแบบนั้นได้อย่างไรในเมื่อมนุษย์คือผู้กำหนดว่าให้อัลกอริทึมเรียนรู้อะไรบ้าง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่กำหนดให้อัลกอริทึมเรียนรู้ไม่มีอคติปนอยู่แม้แต่นิดเดียว
คำตอบคือไม่รู้
ใช่แล้ว เราไม่มีทางระบุได้อย่างชัดเจนว่า เราไม่มีอคติต่อสิ่งที่ทำอยู่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะทุกคนเกิดมาในรูปแบบสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนอยู่ภายใต้สังคมต่างกันก็มีตั้งแต่สถานที่เกิด, ช่วงเวลาที่เกิด, โรงเรียนที่เข้าเรียน และอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนไม่มีทางที่จะไม่มีอคติปนอยู่ เพราะการหล่อหลอมจนมาเป็นคนคนหนึ่ง เราจะถูกป้อนข้อมูลที่เราไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และข้อมูลเหล่านี้ไม่มีทางที่จะเหมือนกัน 100% และไม่มีทางที่จะทำให้เหมือนกัน 100% ต่อให้เป็นองค์กรอิสระก็ย่อมมีผลประโยชน์ร่วม อาจจะด้วยสิ่งที่เป็นตัวเงิน ไปจนถึงสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเงินอย่างเช่น การผูกพันธ์ทางด้านความเชื่อ ชนชาติ และอื่น ๆ ที่ไม่อาจอธิบายได้อีกจำนวนมาก
เหตุผลที่เราไม่สามารถทำให้เหมือนกัน 100% ได้ เพราะโลกเรามีความแตกต่างสูงมาก ดังที่อธิบายไปข้างต้น ดังนั้นทางที่จะทำได้ในมุมของฝั่งเจ้าของธุรกิจคือการเปิดเผยวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล
การเปิดเผยวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลถือว่าสำคัญ เพราะว่าการทำธุรกิจหลาย ๆ ครั้งเราจะต้องโฟกัส หรือกำหนดกลุ่มผู้ใช้เป้าหมายที่เราต้องการ ดังนั้นข้อมูลที่เรานำมาก็อาจจะต้องเลือกตามกลุ่มลูกค้าที่เราโฟกัส (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ากฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากธุรกิจบางประเภท การกีดกันคนเข้ารับบริการเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย) การเปิดเผยวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลจะทำให้ผู้ใช้มั่นใจมากขึ้นว่าข้อมูลนี้มีพื้นเพอย่างไร และรับทราบถึงผลที่จะออกมา ซึ่งวิธีการนี้ในมุมของผู้บริโภคย่อมดีกว่าการปิดบังข้อมูลซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลย (นอกจากคาดเดาจากผลลัพธ์ที่ไม่น่าจะเชื่อถืออะไรได้)
นอกจากการเปิดเผยวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเปิดเผยการได้มาซึ่งผลตัดสินว่าผลลัพธ์ที่ออกมาในลักษณะนี้เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง ลักษณะเหมือนเราคำนวณคณิตศาสตร์แล้วต้องอธิบายได้ว่าผลลัพธ์จากการคำนวณนั้นได้มาอย่างไร

กรณีน่าศึกษาอย่างหนึ่งของการใช้ AI กำหนดการให้ประกันตัวผู้ต้องหา ProPublica ได้ตั้งข้อสังเกตกับกรณีตัวอย่างของ Brisha Borden ที่ถูกจับข้อหานำจักรยานและสกู๊ตเตอร์ที่ไม่ได้ล็อกไปใช้ กับ Vernon Prater ถูกจับข้อหาขโมยสินค้าจากร้าน Home Depot ซึ่ง Borden เป็นคนดำ ไม่ได้รับการประกันตัว แต่ Prater เป็นคนขาวและได้รับการตัดสินให้ประกันตัว
ผลลัพธ์คือ Prater กระทำความผิดซ้ำในขณะที่ Borden ไม่เคยทำผิดซ้ำอีกเลย ซึ่งความอันตรายของการใช้ AI คือเราต้องให้ AI อธิบายให้ได้ด้วยว่าเพราะเหตุใดจึงตัดสินเช่นนั้น
คุณลองคิดดูว่าถ้าเป็นผู้พิพากษาที่เป็นคนพูดว่า “ฉันไม่ให้ประกันตัว” และไม่มีอธิบายเหตุผลใด ๆ แบบนี้คุณจะพอใจหรือไม่ แน่นอนว่าคุณคงไม่พอใจ ดังนั้นกับ AI คุณคงจะต้องให้ AI หรือผู้สร้าง AI อธิบายออกมาให้ได้ว่า ทำไมคำตอบจึงเป็นอย่างนั้น
เรากลับมาที่มุมมองของข้อมูลข่าวสารบ้าง ทุกวันนี้โซเชียลเน็ตเวิร์คมีพลังมาก เพราะโซเชียลเน็ตเวิร์คถือข้อมูลคนทั้งโลกรวมกันมหาศาล ดังนั้นเพื่อป้องกันการที่ผู้ใช้จะปิดโซเชียลเน็ตเวิร์คไปเฉย ๆ เพราะมีแต่ขยะ โซเชียลเน็ตเวิร์คจะใช้อัลกอริทึมต้องเลือกข่าวสารที่เราอยากรู้ให้ได้
แต่การที่เลือกเฉพาะในสิ่งที่อยากรู้อาจไม่เพียงพอ โซเชียลเน็ตเวิร์คอาจต้องรับผิดชอบทั้งการเปิดเผยว่าทำไมถึงเลือกข้อมูลนี้มาแสดง (ซึ่งก็คืออธิบายให้ได้ว่าทำไมโซเชียลเน็ตเวิร์คถึงคิดว่าเราอยากรู้สิ่งนี้) ไปจนถึงการจัดการข้อมูลปลอมที่สร้างผลกระทบด้วยการยืนยันผ่านการนำข้อมูลจริงที่ได้รับการยืนยันแล้วมาลบล้าง และระบุให้ชัดเจนด้วยว่าอะไรทำให้คุณเห็นโพสต์เหล่านี้

ยิ่งเป็นเรื่องการโฆษณา โซเชียลเน็ตเวิร์คก็ยิ่งต้องเปิดเผยข้อมูลด้วยว่าใครเป็นผู้สั่งรันแคมเปญโฆษณาเหล่านี้ โดย Tim Berners-Lee ผู้สร้างเว็บได้ให้ความเห็นไว้ว่าก่อนหน้านี้ว่าแคมเปญโฆษณาหวังผลบางอย่างเหล่านี้ปรากฏขึ้นมา และจู่ ๆ ก็หายไป บุ๊คมาร์กไว้ไม่ได้
ในความเห็นของ Tim Berners-Lee ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะเขาเป็นผู้สร้าง “เว็บ” ซึ่งตัวเว็บเองเกิดขึ้นมาภายใต้แนวคิดไร้ศูนย์กลาง แต่อินเทอร์เน็ตทุกวันนี้กลับรวมศูนย์ที่ให้อำนาจตัดสินใจไปอยู่กับคนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นภัยต่อระบบไร้ศูนย์กลางอย่างชัดเจน
จากบทความของ Tim Berners-Lee นั้น เขาพูดแบบไม่ได้ระบุบริษัท และพูดไว้ตั้งแต่ก่อนที่ Facebook จะออกประกาศข้อมูลหลุดเสียอีก ตอนนี้เราก็จะเห็นแล้วว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คมีพัฒนาการดีกว่าก่อนหน้านี้มาก
อีกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับโซเชียลเน็ตเวิร์คคือ ปฏิบัติการ Information Operation หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า IO ซึ่งการทำ IO นี้ใครที่มีกำลังแรงหรือเงิน (ไปจ้าง) ก็สามารถทำได้ อาจจะป็นคนหนึ่งสร้างบัญชีขึ้นมา 10 บัญชี หรือมากกว่านั้น และมันอาจจะดูน่าเชื่อถือเพราะเราเห็นคนอื่น (ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นใคร) แค่โพสต์กัน แชร์กัน และมันไม่ใช่โฆษณา ซึ่งจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ได้ แต่ด้วยความที่เราเห็นว่ามีคนแชร์คนโพสต์เรื่องนี้เยอะ ทั้งที่จริงมันอาจจะเกิดจากคนเพียงแค่ไม่กี่คนก็ได้เมื่อเทียบกับในสังคมที่มีคนอยู่จำนวนมาก ก็กลายเป็นเราเชื่อเรื่องนี้ไปซะงั้น
การกระทำ IO ไม่ว่าจะเป็นใครทำก็ตาม แพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ของโลกจะถือเป็นความผิดฐาน platform manipulation โดนกรณีนี้มีตัวอย่างชัดเจน คือ Michael Bloomberg โดนแบนบัญชีที่สนับสนุนทางทวิตเตอร์ไปแล้ว
เมื่อการเปิดเผยการได้มาซึ่งข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญในมุมของเจ้าของธุรกิจ แต่สำหรับฝั่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ สิ่งที่ทำได้คือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง โดยพยายามเลือกจากแหล่งข่าวที่หลากหลาย พยายามอ่าน background ของแหล่งข่าวถ้ามีโอกาส เพื่อกำหนดและให้น้ำหนักกับข้อมูลที่รับมา
สุดท้ายนี้
เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความไม่เป็นกลางได้ แต่เราต้องตระหนักและสร้างความตระหนักให้คนอื่นรับรู้ว่า ทุกสิ่งไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งการเปิดเผยการได้มาถึงสิ่งเหล่านั้น เช่น ข่าวที่อัลกอริทึมเลือกมาให้ โฆษณาที่ปรากฏบนหน้าจอ ว่าทำไมจึงเห็นข่าวนี้ ทำไมจึงเห็นโพสต์นี้ ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง รวมถึงการเลือกรับสารอาจเป็นทางออกที่ดูมีเหตุผลกว่าการเรียกร้องความเป็นกลาง เพราะด้วยความแตกต่างของมนุษย์โลก ทำให้เราไม่สามารถระบุได้ด้วยซ้ำว่าอะไรถึงเรียกว่ากลาง